onestopservice.ditp.go.th

ข้อถือสิทธิคืออะไร

ข้อถือสิทธิคืออะไร

ข้อถือสิทธิ  เป็นส่วนสำคัญของคำขอรับสิทธิบัตรที่ผู้ขอฯมีความจำเป็นจะต้องระบุถึงขอบเขตของสิทธิที่ประสงค์ที่จะขอรับความคุ้มครอง  ซึ่งแสดงสาระสำคัญของการประดิษฐ์และขอบเขตการสงวนสิทธิห้ามมิให้บุคคลอื่นแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการละเมิดสิทธิบัตรของผู้ทรงสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ในการระบุข้อถือสิทธิโดยทั่วไป  ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรไม่ควรจะระบุขอบเขตสาระสำคัญการประดิษฐ์กว้างจนเกินกว่าที่เปิดเผยไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์หรือสิ่งที่ทำการประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น หากผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรต้องการขอถือสิทธิในสาระสำคัญการประดิษฐ์ดังกล่าว จะต้องได้รับการเปิดเผยไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ที่มีข้อความสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้ง 

ข้อถือสิทธิจะต้องมีการระบุข้อความไว้อย่าง “ชัดแจ้งและรัดกุม ” พอจะสรุปความหมายได้ว่า 

1. ลักษณะของถ้อยคำที่ใช้  

ห้ามใช้ถ้อยคำที่มีความหมาย คลุมเครือ หรือถ้อยคำที่เป็นทางเลือกแบบกว้าง  เช่น ระบุว่าส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการประดิษฐ์ นั้น “ ทำมาจากโลหะ หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ย่อมแสดงความไม่ชัดเจน เพราะสิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับโลหะมีมากมาย ซึ่งก็อาจเป็นปัญหาในตีความถึงสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้

2. ลักษณะการบรรยายหรืออธิบายสาระสำคัญการประดิษฐ์ลงในข้อถือสิทธิ  

จะต้องระบุสาระสำคัญที่ผู้ขอมีความประสงค์ที่จะขอรับความคุ้มครองโดยชัดแจ้ง รัดกุม และสอดคลองกับรายละเอียดการประดิษฐ์  หากสาระสำคัญการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิไม่สอดคล้องกันกับการเปิดเผยไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์  อาจเป็นเหตุทำให้ถูกปฏิสธการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรได้

3. วิธีการของการแยกและจัดลำดับของข้อถือสิทธิ

ความชัดเจน และรัดกุมของข้อถือสิทธิ  อาจจะเกิดได้จากวิธีการแยกและการจัดลำดับข้อถือสิทธิ รวมทั้งการอ้างอิงข้อถือสิทธิอื่นๆ  สำหรับการพิจารณาแยกข้อถือสิทธิออกเป็นเป็นหลายข้อนั้น  ขึ้นอยู่กับลักษณะของการประดิษฐ์ว่ามีการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะองค์ประกอบหรือโครงสร้างซับซ้อนหรือไม่เพียงใด  ถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนก็ไม่ควรแยกข้อถือสิทธิเป็นหลายข้อ  เพราะจะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุม  ในทางกลับกันถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ซับซ้อนมากหากไม่แยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลายข้อ ก็จะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุมเช่นเดียวกัน

ข้อถือสิทธิที่ระบุถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นสาระสำคัญของการประดิษฐ์ เรียกว่า  “ข้อถือสิทธิหลัก”  ส่วนข้อถือสิทธิที่อ้างถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อยอื่น เรียกว่า “ข้อถือสิทธิรอง”  โดยทั่วไปการประดิษฐ์ที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนจนเกินไป  มักจะมีข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวและอาจมีข้อถือสิทธิรองได้มากกว่าหนึ่งข้อ หากเป็นกรณีของคำขอรับอนุสิทธิบัตรจะต้องระบุข้อถือสิทธิรวมกันได้ไม่เกิน 10 ข้อ

กรณีที่ระบุข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวแล้วยังไม่ครอบคลุมถึงลักษณะทางเทคเนิคของการประดิษฐ์นั้นได้ทั้งหมด  ผู้ขอฯสามารถระบุข้อถือสิทธิหลักไว้ได้หลายข้อ  หากแต่การระบุข้อถือสิทธิหลักดังกล่าวจะต้องระบุอยู่ภายความคิดรวบยอดการประดิษฐ์เดียวกันที่ถูกเปิดเผยไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ของคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรหนึ่งฉบับ  สำหรับการอ้างข้อถือสิทธิอาจระบุเป็นกลุ่มชุดข้อถือสิทธิ (Set Claims)ได้

ในการอ้างอิงข้อถือสิทธิรองจะต้องระบุอ้างอิงในลักษณะที่ความหมายเป็นทางเลือกเท่านั้น เช่น

  1. กระถางต้นไม้ ที่ซึ่งประกอบด้วย  ตัวกระถาง (1) ถูกติดตั้งอยู่บนฐานรอง (2)........ที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือเครื่องเขย่า (3)......และท่อระบายน้ำออก(4) .......และส่วนเก็บน้ำ(5)......(บรรยายส่วนคิดค้นพัฒนาปรับปรุง/ที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง)............     (เป็นข้อถือสิทธิหลัก) และมีข้อถือสิทธิรองคือ

  2. กระถางต้นไม้ ตามข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ที่ซึ่งประกอบด้วยท่อระบายน้ำออก(4) ที่มีลักษณะพิเศษ..............  

  3. กระถางต้นไม้ ตามข้อถือสิทธิข้อที่ 1 และ 2 ข้อใดข้อหนึ่ง  ที่ซึ่งประกอบด้วย ส่วนเก็บน้ำ(4) ที่มีลักษณะพิเศษ ....  การอ้างถึงข้อถือสิทธิรองในข้อถือสิทธิข้อที่ 3 ดังกล่าวข้างต้นถือว่ามีลักษณะเป็นทางเลือก 

แต่ถ้าระบุว่า

“3.  กระถางต้นไม้ตามข้อถือสิทธิที่ 1 และ 2  ที่ซึ่งประกอบด้วยส่วนเก็บน้ำ (4) ที่มีลักษณะพิเศษ ..................”     การอ้างถึงข้อถือสิทธิรองในข้อถือสิทธิข้อที่ 3 ดังกล่าวข้างต้นถือว่ามีลักษณะไม่เป็นทางเลือก   




วันที่ประกาศข่าว : 02 ก.พ. 2564 3253